รู้ก่อนเป็น “ความดันสูง” โรคอันตราย ที่อาจจะมีโรคอื่นตามมา
จำนวนผู้เข้าชม : 141
“ผู้ที่มีความดันโลหิตวัดได้มากกว่า 140/90 มม.ปรอท จะถือว่าเป็นโรค ความดันสูง” ภัยเงียบที่น่ากลัวไม่แพ้โรคอื่น เพราะความดันสูงจะนำพาโรคร้ายอื่น ๆ มาให้กับคุณ เช่น เช่น โรคอัมพาตจากหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย โรคไตวาย เป็นต้น
ความดันสูง หรือ Hypertension ภาวะความดันในหลอดเลือดแดงสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอท ขึ้นไป โดยวัดขณะนั่งพัก 5-10 นาที ซึ่งโดยปกติแล้วความดันโลหิตปกติจะอยู่ที่ 120/80 มม.ปรอท หรือความดันโลหิตตัวบน (ค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัว) มีค่าอยู่ที่ 120-129 มม.ปรอท และความดันโลหิตตัวล่าง (ค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัว) มีค่าอยู่ที่ 80-84 มม.ปรอท
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คุณอาจเป็นความดันสูง
- อายุ ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น
- จิตใจและอารมณ์ ภาวะเครียดส่งผลให้ความดันสูงได้
- เพศ พบว่าเพศชายจะเป็นความดันสูงได้มากกว่าเพศหญิง
- พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีบิดาและมารดา เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว
- สภาพภูมิศาสตร์ ผู้ที่อยู่ในสังคมเมืองจะเป็นโรคความดันสูงมากกว่าในผู้ที่อยู่ในสังคมชนบท
- เชื้อชาติ พบว่าชาวแอฟริกันอเมริกันมีความดันสูงมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาว
- ความเค็ม ผู้ที่บริโภคโซเดียมในปริมาณมากจะมีโอกาสเกิดความดันสูงมากกว่าผู้ที่บริโภคโซเดียมในปริมาณน้อย
อาการของคนความดันสูง
โรคความดันสูงมักไม่มีสัญญาณหรืออาการใด ๆ แม้ว่าค่าความดันโลหิตจะอยู่ในระดับที่สูงเกินค่าปกติก็ตาม แต่ทว่าบางรายก็อาจมีอาการปวดศีรษะ หายใจถี่ มีเลือดกำเดาไหล ปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือเท้าชา ตามัว อัมพาต หรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้
ระดับความรุนแรงของความดันสูง
- ระดับที่ 1 ความดันสูงระยะเริ่มแรก ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 140-159/90-99 มม.ปรอท
- ระดับที่ 2 ความดันสูงระยะปานกลาง ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 160-179/100-109 มม.ปรอท
- ระดับที่ 3 ความดันสูงระยะรุนแรง ค่าความดันโลหิต มากกว่า 180/110 มม.ปรอทขึ้นไป
เพราะความดันโลหิตคือ แรงดันของกระแสเลือดที่มีต่อผนังหลอดเลือด โดยมีอวัยวะสำคัญที่ควบคุมให้ความดันอยู่ในระดับปกติ เช่น หัวใจ ไต หลอดเลือด เมื่อความดันสูงหรืออยู่ในค่าที่ผิดปกติจึงแสดงให้เห็นว่าอวัยวะเหล่านี้อาจทำงานผิดปกติ และได้รับผลกระทบจนเสี่ยงเป็นโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ
ภาวะแทรกซ้อนจากความดันสูง
- ภาวะแทรกซ้อนจากความดันสูงโดยตรง เช่น หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองแตก
- ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดตีบหรือตัน หากเกิดบริเวณหลอดเลือดหัวใจ จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หากเกิดบริเวณหลอดเลือดในสมอง จะทำให้หลอดเลือดสมองตีบ เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ หรือหากเกิดบริเวณไตจะทำให้หลอดเลือดแดงในไตตีบมากถึงขั้นไตวายเรื้อรังได้
หากเสี่ยงจะเป็นความดันสูง รีบเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคุณโดยด่วน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างสุขภาพที่ดี เช่น ลดน้ำหนักส่วนเกิน ลดเค็มและอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลิกสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พยายามกำจัดภาวะเครียดโดยเร็วที่สุด แต่หากใครไปตรวจแล้วพบว่าตนเองเป็นความดันสูงแล้ว นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้ว ยังต้องทานยารักษาความดันตามที่หมอสั่ง ไม่หยุดยาเอง และไปหาหมอตามนัดเพื่อติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ การรักษาจะได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
อย่าชะล่าใจ ถึงแม้ว่าตอนนี้คุณจะมีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่ แต่ใครจะรู้ว่าในอนาคตโรคภัยไข้เจ็บอย่างความดันสูงอาจถามหาคุณก็ได้ ซื้อประกันสุขภาพ TIP INSURE ไว้ย่อมอุ่นใจกว่า คุ้มครองครอบคลุมไม่ว่าเป็นค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรคภัย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ สนใจซื้อประกันสุขภาพออนไลน์ได้เลยที่ TIPINSURE.COM หรือโทร 1736 เพราะสุขภาพคือสิ่งสำคัญ