เช็กที่นี่! ขั้นตอนต่อภาษีรถยนต์ประจำปี

จำนวนผู้เข้าชม : 552

 

เช็กที่นี่! ขั้นตอนต่อภาษีรถยนต์ประจำปี

 

               การต่อภาษีรถยนต์ หรือ ต่อทะเบียนรถยนต์  เป็นสิ่งสำคัญที่รถยนต์ทุกคันต้องทำเป็นประจำทุกปี ไม่เช่นนั้นหากขาดต่อภาษี หรือ ต่อภาษีล่าช้า จะต้องเสียค่าปรับ 1% ต่อเดือนของค่าภาษีรถยนต์ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย วันนี้ TIPINSURE เลยได้นำสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับ ภาษีรถยนต์ มาฝากกัน ไปดูกันสิว่า การต่อภาษีรถยนต์ มีขั้นตอนอย่างไร ต่อภาษีรถยนต์ใช้อะไรบ้าง และภาษีรถยนต์แต่ละประเภท มีราคาเท่าไร

 

ภาษีรถยนต์ คืออะไร

               ภาษีรถยนต์ คือ ภาษีประเภทหนึ่งที่ผู้ใช้รถยนต์ต้องจ่ายเป็นประจำทุกปีตามกฎหมายกำหนด โดยภาษีที่เราจ่ายไปทุกๆ ปีนั้นก็เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางการคมนาคมบนท้องถนน ซึ่งการต่อภาษีรถยนต์นั้น ก็เป็นเหมือนกับการต่อทะเบียนรถยนต์ ให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยรถยนต์ที่ทำการต่อภาษีรถยนต์ เรียบร้อยแล้ว จะได้รับ “ป้ายภาษี” หรือที่แต่ก่อนเรียกกันว่า “ป้ายวงกลม” มาติดแสดงไว้บนกระจกหน้ารถ โดยจะเป็นป้ายสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่ระบุปีและวันที่ ที่ภาษีรถยนต์หมดอายุ

               และหากถึงกำหนดวันที่ ภาษีรถยนต์หมดอายุ จะต้องไป ต่อภาษีรถยนต์ หรือ ต่อทะเบียนรถยนต์ อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยสามารถต่อภาษีล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน (90 วัน) ทั้งนี้หากใครที่ลืมเสียภาษีรถยนต์ หรือ ไปต่อทะเบียนล่าช้า จะต้องเสียค่าปรับในอัตราร้อยละ 1 บาท ของค่าภาษีรถยนต์ที่ใช้งาน และหากผู้ใช้รถไม่ได้ต่อภาษีรถยนต์ติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกิน 3 ปี จะถูกระงับป้ายทะเบียน ต้องไปขอจดทะเบียนใหม่ พร้อมกับเสียค่าปรับย้อนหลังทั้งหมด

 

ต่อภาษีรถยนต์ ราคาเท่าไร

               ในการต่อภาษีรถยนต์นั้นจะมีราคาแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทรถยนต์ที่จดทะเบียน โดยการคิดภาษีรถยนต์ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. คำนวณตามความจุกระบอกสูบ (ซี.ซี.)

               การคำนวณภาษีรถยนต์ตามซีซีรถยนต์ ใช้กับ รถเก๋ง หรือ รถกระบะ ที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (ป้ายทะเบียนพื้นขาว ตัวหนังสือสีดำ) โดยมีการคิดภาษีดังนี้

  • ความจุกระบอกสูบ 600 ซี.ซี. แรก - ซี.ซี.ละ 0.50 บาท
  • ความจุกระบอกสูบ 601 - 1,800 ซี.ซี. - ซี.ซี. ละ 1.50 บาท
  • ความจุกระบอกสูบ เกินกว่า 1,800 ซี.ซี. - ซี.ซี. ละ 4.00 บาท

               ทั้งนี้ หากเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนมาแล้วเกิน 5 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีประจำปีในปีต่อๆไป ดังนี้

  • รถมีอายุการใช้งาน เข้าปีที่ 6 ได้ส่วนลด 10%
  • รถมีอายุการใช้งาน เข้าปีที่ 7 ได้ส่วนลด 20%
  • รถมีอายุการใช้งาน เข้าปีที่ 8 ได้ส่วนลด 30%
  • รถมีอายุการใช้งาน เข้าปีที่ 9 ได้ส่วนลด 40%
  • รถมีอายุการใช้งาน เข้าปีที่ 10 และปีต่อๆ ไป ได้ส่วนลด 50%

 

2. จัดเก็บภาษีตามน้ำหนักของรถยนต์ ได้แก่

               สำหรับการคิดค่าภาษีรถยนต์ตามน้ำหนักของรถยนต์ ใช้ได้กับ รถยนต์ที่จดทะเบียนเป็น รถบรรทุกส่วนบุคคลที่เกิน 7 ที่นั่ง (ป้ายทะเบียนพื้นขาว ตัวหนังสือสีเขียว) เช่น รถกระบะ 2 ประตู รถบรรทุกขนาดเล็ก โดยมีการคิดราคาภาษี ดังนี้

  • น้ำหนักรถ 501- 750 กก. อัตราภาษี 450 บาท
  • น้ำหนักรถ 751 – 1,000 กก. อัตราภาษี 600 บาท
  • น้ำหนักรถ 1,001 – 1,250 กก. อัตราภาษี 750 บาท
  • น้ำหนักรถ 1,251 – 1,500 กก. อัตราภาษี 900 บาท
  • น้ำหนักรถ 1,501 – 1,750 กก. อัตราภาษี 1,050 บาท
  • น้ำหนักรถ 1,751 – 2,000 กก. อัตราภาษี 1,350 บาท
  • น้ำหนักรถ 2,001 – 2,500 กก. อัตราภาษี 1,650 บาท

 

เช่นเดียวกับ รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง (ป้ายทะเบียนพื้นขาว ตัวหนังสือสีน้ำเงิน) หรือ รถตู้ ก็มีการคิดราคาภาษีรถยนต์ ตามน้ำหนักรถเช่นกัน ดังนี้

  • น้ำหนักรถไม่เกิน 1,800 กก. อัตราภาษี 1,300 บาท
  • น้ำหนักรถเกิน 1,800 กก. อัตราภาษี 1,600 บาท

 

3. จัดเก็บภาษีตามประเภทรถยนต์

  • รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 100 บาท
  • รถจักรยานยนต์สาธารณะ คันละ 100 บาท
  • รถพ่วงของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 50 บาท
  • รถพ่วงประเภทอื่น ๆ คันละ 100 บาท
  • รถบดถนน คันละ 200 บาท
  • รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตร คันละ 50 บาท

 

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับ ต่อภาษีรถยนต์ใช้อะไรบ้าง

          เมื่อได้ทราบกันไปแล้วว่า รถยนต์แต่ละประเภท มีการคำนวณภาษีรถยนต์อย่างไร ราคาเท่าไรบ้างนั้น หากจะไปต่อภาษี มาดูเอกสารที่จำเป็น ต่อภาษีรถยนต์ใช้อะไรบ้าง ดังนี้

  1. เล่มทะเบียนรถยนต์ สามารถใช้ได้ทั้งฉบับจริง และ สำเนาเล่มทะเบียนรถยนต์
  2. ส่วนท้ายของเอกสาร พ.ร.บ.รถยนต์
  3. ใบรับรองการติดตั้งแก๊สรถยนต์ สำหรับรถยนต์ที่ติดแก๊ส NGV หรือ LPG
  4. ใบตรวจสภาพรถยนต์ จาก ตรอ. สำหรับรถยนต์ที่เข้าข่ายดังนี้
  • รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
  • รถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป
  • รถที่ขาดการต่อทะเบียนเกิน 1 ปี หรือ มีการดัดแปลงสภาพรถไม่ตรงกับที่แจ้งไว้ในสมุดคู่มือประจำรถ

 

ต่อภาษีรถยนต์ ที่ไหนได้บ้าง

               ปัจจุบันนี้ เราสามารถต่อภาษีรถยนต์ หรือ ต่อทะเบียนรถยนต์ ได้หลากหลายช่องทาง ไม่จำกัดว่าต้องไปต่อภาษีที่กรมการขนส่งทางบกเพียงที่เดียวเท่านั้น โดยสามารถชำระภาษีรถยนต์ประจำปี ได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้

  • สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ
  • จุดบริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax)
  • เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ
  • ที่ทำการไปรษณีย์
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  • ห้างสรรพสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ "ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)"

 

โทษปรับ หากขาดต่อภาษีรถยนต์

               อย่างที่ TIPINSURE บอกไปว่า ภาษีรถยนต์ นั้นมีความจำเป็นกับรถยนต์ทุกคัน และเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากรถยนต์ทีใช้ไม่ได้ต่อภาษีรถยนต์ ก็จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมีโทษปรับตามกรณีต่างๆ ดังนี้

  • ขาดต่อภาษีรถยนต์เกิน 1 ปี ต้องตรวจสภาพ ตรอ. พร้อมเสียภาษีและค่าปรับย้อนหลัง (ชำระเมื่อต่อภาษี)
  • ขาดต่อภาษีรถยนต์ติดต่อกัน 3 ปี ป้ายทะเบียนจะถูกยกเลิก ต้องขอจดทะเบียนใหม่
  • ใช้รถยนต์ที่ พ.ร.บ.ขาด และ ภาษีรถยนต์ขาด  มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  • ใช้รถที่ไม่มี พ.ร.บ. รถยนต์ หรือขาดต่ออายุ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  • ใช้รถที่ไม่แสดงเครื่องหมายการชำระภาษี (ไม่ติดป้ายวงกลมให้เห็นชัดเจน) มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

 

               และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ภาษีรถยนต์ขาด สามารถต่อภาษีรถยนต์ ล่วงหน้าได้ไม่เกิน 90 วัน ก่อนวันหมดอายุ อย่างไรก็ดี ผู้ขับขี่รถยนต์ก็ควรเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ขับรถอย่างปลอดภัย ไม่ประมาท ทั้งนี้ หากใครที่ต้องการความคุ้มครองอย่างอุ่นใจขณะขับขี่ ให้ ประกันรถยนต์ จากทิพยประกันภัย เป็นผู้ดูแลคุณ เรามีแผนประกันให้คุณได้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันรถยนต์ ชั้น 2+ ประกันรถยนต์ ชั้น 3+ และ ประกันรถยนต์ชั้น 3 โดยสามารถ เช็กราคาประกันรถยนต์ หรือ ซื้อประกันรถยนต์ ออนไลน์ ง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ TIPINSURE.COM

 

บทความที่เกี่ยวข้อง