ไขข้อข้องใจ จ่ายเงิน M-Flow ยังไง ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิก
จำนวนผู้เข้าชม : 4
ไขข้อสงสัย ไม่ได้เป็นสมาชิกจ่ายเงิน M-Flow ยังไง?
เคยสงสัยกันไหมว่าช่องทางด่วน M-Flow ต้องจ่ายเงิน M-Flow อย่างไร? ถ้ากรณีที่เป็นสมาชิกอยู่แล้ว คงไม่มีปัญหามากเท่าไหร่นัก แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ก็สามารถใช้งานได้เหมือนกัน เพียงแต่จะมีวิธีการจ่ายค่าผ่านทาง M-Flow แตกต่างกันออกไป นอกเหนือจากนั้นถ้าคุณจ่ายเงิน M-Flow ไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด จะมีค่าปรับที่ต้องเสียเพิ่มเติมด้วย ดังนั้นถ้าใครอยากเดินทางรวดเร็ว และสะดวกสบายมากขึ้นบนทางด่วน ลองติดตามอ่านข้อมูลที่ TIPINSURE รวบรวมมาให้กันได้เลย
ทางด่วน M-Flow คืออะไร
ทางด่วน M-Flow คือ ช่องทางด่วนที่มีการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติเอาไว้ ไม่มีการติดตั้งไม้กั้นเหมือนกับช่องจ่ายเงินทั่วไป เป็นแนวคิดที่เริ่มต้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วนโดยเฉพาะ ซึ่งรถยนต์ที่ได้รับการอนุญาตให้สัญจรบนทางด่วน สามารถเข้าใช้งานช่องทาง M-Flow ได้แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกก็ตาม ส่วนวิธีการจ่ายเงิน M-Flow จะมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ภาพรวมยังถือว่าสะดวกมากเลยทีเดียว
วิธีจ่ายเงิน M-Flow เมื่อใช้บริการ
วิธีจ่ายเงิน M-Flow เมื่อใช้บริการจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ วิธีชำระเงินสำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก และผู้ที่เป็นสมาชิก โดยรายละเอียดของทั้งสองวิธีจะมีรายละเอียดดังหัวข้อย่อยต่อไปนี้
วิธีชำระเงินสำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก
- เช็กยอดค่าบริการผ่านหน้าเว็บ M-Flow หรือแอปฯ MFlowThai กรอกข้อมูลเป็นทะเบียนรถของเรา เพื่อรับ QR Code สำหรับการจ่ายเงิน M-Flow เช่น แอปฯ ธนาคาร, ATM, Counter Service และเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย
- จ่ายค่าผ่านทาง M Flow ด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิต
- จ่ายค่าผ่านทาง M Flow ที่หน้า Counter Service หรือ เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย พร้อมแจ้งทะเบียนรถที่เข้าใช้บริการ
วิธีชำระเงินสำหรับผู้ที่เป็นสมาชิก
- ผู้ที่เป็นสมาชิกอยู่แล้วสามารถตั้งค่าการจ่ายเงิน M Flow ได้แบบอัตโนมัติ ด้วยการจ่ายเงินผ่านบัตรเดบิต, บัตรเครดิต, ตัดเงินจากบัญชีกรุงไทย และ M Pass หรือ Easy Pass (จ่ายรายครั้ง)
- จ่ายเงินค่าผ่านทาง M Flow ด้วยตัวเอง จาก QR Code ที่แอปฯ ธนาคาร, ATM, Counter Service และเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย (จ่ายรายครั้ง)
- จ่ายเงิน M Flow ด้วยการตัดเงินจากบัตรเครดิต, บัตรเดบิต หรือเชื่อมต่อไว้กับบัญชีธนาคารกรุงไทย (จ่ายตามรอบบิล)
อัปเดต Easy Pass เป็น Easy Pass Plus ชำระ M-Flow ได้ในระบบเดียว
เพื่อช่วยลดขั้นตอนในการสมัคร M-Flow การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จึงได้เพิ่มทางเลือกใหม่ด้วยบริการ Easy Pass Plus โดยให้ผู้ใช้งาน Easy Pass เดิมเข้าไปอัปเดตข้อมูลส่วนตัวผ่านแอปพลิเคชัน EXAT Portal หรือสมัครสมาชิกผ่านเว็บไซต์ Easy Pass เมื่อทำรายการเรียบร้อยก็สามารถใช้บริการ M-Flow ได้ทันทีโดยไม่ต้องสมัครสมาชิก M-Flow ใหม่อีกรอบ ซึ่งขั้นตอนดำเนินการมีดังนี้
- กรอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ / เลขบัตรประชาชน / ที่อยู่ / หมายเลขโทรศัพท์สำหรับลงทะเบียน
- ใส่หมายเลขบัตร OBU หรือเลขสมาร์ตการ์ด S/N ที่ใช้เติมเงินสำรองค่าผ่านทาง
- ระบุอีเมลและหมายเลขทะเบียนรถที่ใช้งาน
- เลือกรายการบัตร Easy Pass สำหรับการใช้งาน M-Flow
- ยืนยันตัวตนสำหรับการสมัคร Easy Pass Plus ด้วยรหัส OTP ผ่านข้อความทางสมาร์ตโฟน จากนั้นจะได้รับข้อความยืนยันการสมัครตอบกลับ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ถ้าไม่จ่ายเงิน M-Flow มีโทษอย่างไร
กรณีที่ไม่จ่ายเงิน M Flow ในระยะเวลาที่กำหนด คือ ภายใน 7 วันหลังใช้บริการ จะมีค่าปรับที่แตกต่างกันออกไป 2 กรณี ได้แก่ ค่าปรับสำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก และค่าปรับสำหรับผู้ที่เป็นสมาชิก มีรายละเอียดดังนี้
- ค่าปรับ M Flow สำหรับผู้ไม่ได้เป็นสมาชิก : หากครบ 7 วันที่ใช้บริการแล้วไม่จ่ายเงิน M Flow จะมีการส่งใบแจ้งเตือน เพื่อให้ชำระเงินพร้อมค่าปรับ 10 เท่าของค่าผ่านทาง เช่น ค่าผ่านทาง 30 บาท ค่าปรับ 10 เท่า รวมเป็น 300 บาท และถ้าเกิน 15 วันยังไม่จ่าย จะบวกค่าปรับเพิ่ม 200 บาท และอาจโดนดำเนินคดีตามกฎหมายที่มีค่าปรับฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ. ทางหลวง ปรับอีกไม่เกิน 5,000 บาท
- ค่าปรับ M Flow สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิก : หากครบ 7 วันที่ใช้บริการแล้วไม่จ่ายเงิน M Flow ถ้าเป็นสมาชิกจะมีค่าปรับ 2 เท่าของค่าผ่านทาง เช่น ค่าผ่านทาง 30 บาท โดนปรับเพิ่มอีก 60 รวมเป็น 90 บาท แต่ถ้าเกิน 15 วัน จะปรับเพิ่มอีก 10 เท่าของค่าผ่านทาง และบวกเพิ่มอีก 200 บาท
สรุปบทความ
นอกเหนือจากวิธีการจ่ายเงิน M Flow ที่ต้องรู้ไว้สำหรับผู้ที่ใช้เส้นทางด่วนบ่อย ก็แนะนำว่าอย่าลืมซื้อประกันรถยนต์ติดไว้ เผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นบนทางด่วน จะได้ผู้ที่คอยดูแล ให้ความช่วยเหลือคุณได้เร่งด่วน และคุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมง สามารถโทรเข้ามาติดต่อสอบถามหรือขอคำปรึกษาเพิ่มเติมกับ TIPINSURE ได้ที่เบอร์ 1736