ไขข้อสงสัย คนพิการทำใบขับขี่ได้ไหม และมีขั้นตอนอะไรบ้าง
จำนวนผู้เข้าชม : 3
คนพิการทำใบขับขี่ได้ไหม และต้องดำเนินการยังไงบ้าง
ใครที่กำลังสงสัยว่า คนพิการทำใบขับขี่ได้ไหม? เพราะบางคน อาการอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากนัก เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิ์ในการดำเนินชีวิตได้ตามปกติ TIPINSURE ได้รวบรวมข้อมูลที่หลายคนอยากรู้ มาดูกันว่ามีขั้นตอน เอกสาร และต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ความพิการแค่ไหนที่ยังสามารถขับขี่รถได้ กฎข้อบังคับต่าง ๆ ในการขับขี่รถยนต์ของคนพิการคืออะไร มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้ในบทความนี้
คนพิการขับรถได้ไหม แบบไหนที่กฎหมายอนุญาต
ในกรณีที่มีความบกพร่องทางร่างกายไม่มากหรือไม่ถึงขั้นที่ส่งผลต่อการขับรถ อย่างเช่น ผู้พิการทางการพูด ผู้พิการที่สูญเสียแขน ขา ข้างใดข้างหนึ่ง หรือผู้พิการทางสายตาข้างใดข้างหนึ่ง เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้ในใบรับรองแพทย์จะต้องมีการระบุด้วยว่าสามารถขับรถได้ ไม่เป็นอุปสรรคหรือส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุนั่นเอง
คนพิการทำใบขับขี่ได้ไหม
หากเป็นผู้พิการทางดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง จะต้องใช้ใบรับรองแพทย์ตามแบบที่กรมขนส่งทางบกกำหนด โดยให้จักษุแพทย์เป็นผู้ออกใบรับรองเท่านั้น ว่าอีกข้างยังสามารถใช้ได้ปกติดี ในกรณีที่เป็นผู้พิการทางหู หรืออวัยวะอื่น เช่น หูตึง หูหนวก (ใส่เครื่องช่วยได้ยินหรือผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมแล้ว) แขน ขา (ไม่มี 1 ข้าง) ต้องใช้ใบรับรองแพทย์สำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชำนาญการรักษาเฉพาะโรครับรองเรียบร้อยแล้ว
ข้อจำกัดทางด้านร่างกายในการทำใบขับขี่
ในการสอบใบขับขี่นั้นเจ้าหน้าที่จะมีการประเมินความสามารถของผู้พิการก่อนว่าสามารถขับรถได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการทางหู สายตา แขน หรือขาเจ้าหน้าที่อาจมีการสอบถามเพิ่มเติมควบคู่ไปกับดุลยพินิจ ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นรายบุคคล หากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าผ่าน ก็สามารถเข้าไปสอบใบขับขี่ได้เลย
ทำใบขับขี่คนพิการต้องเตรียมตัวยังไง
การเตรียมตัวผู้พิการในการสอบใบขับขี่นั้นสิ่งที่ต้องเตรียมไปอย่างแน่นอนคือเอกสารและต้องมีรถที่ดัดแปลงมาเพื่อใช้ในการขับขี่จริง เพราะรถคันนั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้ในการสอบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้พิการคนนั้น ๆ จะสามารถใช้รถคันนั้นขับขี่ได้จริง โดยที่การดัดแปลงเหล่านั้นไม่ถือว่าเป็นการดัดแปลงผิดกฎหมาย เพียงแต่ต้องทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอนเท่านั้น
เอกสารที่ต้องใช้
สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ในการทำใบขับขี่ของผู้พิการนั้นมีไม่กี่อย่าง แต่เป็นเอกสารที่ค่อนข้างเฉพาะทางโดยที่เอกสารเหล่านั้นมีดังนี้
- บัตรประชาชนตัวจริง
- ใบรับรองแพทย์เฉพาะทางอายุไม่เกิน 1 เดือน (เป็นหลักฐานยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่าสามารถบังคับรถได้) เช่น หากเป็นคนตาบอด 1 ข้าง จะต้องมีใบรับรองแพทย์จากจักษุแพทย์ยืนยันว่าตาข้างที่ไม่บอด ยังมีสมรรถภาพดี มองเห็นได้ปกติ โดยนำมายื่นให้เจ้าหน้าที่เพื่อเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพทางกายต่อไป
ขั้นตอนดำเนินการ
- จองคิวทำใบขับขี่คนพิการล่วงหน้า ได้ที่เว็บไซต์ gecc.dlt.go.th หรือ แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue
- ไปที่กรมการขนส่งทางบก หรือสำนักงานขนส่งทางบก ที่ได้จองคิวล่วงหน้าเอาไว้ ตามวันเวลานัดหมาย
- ติดต่อเจ้าหน้าที่ จากนั้นยื่นเอกสารพร้อมคำขอทำใบขับขี่
- เข้ารับการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย
- อบรมใบขับขี่เป็นเวลา 2 ชั่วโมง
- สอบข้อเขียน โดยผู้เข้าสอบจะต้องสอบให้ผ่าน 75% ขึ้นไป จึงจะไปสอบปฏิบัติได้ หากสอบไม่ผ่าน สามารถสอบแก้ตัวได้ 1 ครั้งในวันเดียวกัน แต่ถ้ายังทำข้อสอบไม่ผ่านอีก ต้องมาสอบใหม่ในวันถัดไป
- สอบปฏิบัติทั้งหมด 3 ท่า ได้แก่ เดินหน้า - ถอยหลังในทางตรง, ถอยเข้า - ออกจากช่องว่างด้านซ้าย และจอดรถเทียบทางเท้า กรณีที่สอบไม่ผ่านสามารถสอบแก้ตัวเฉพาะท่าที่ไม่ผ่านได้
- ชำระค่าธรรมเนียม ถ่ายรูป และรอรับใบขับขี่
สรุปบทความ
เป็นผู้พิการก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถขับขี่รถได้ คงหายสงสัยกันแล้วว่าคนพิการทำใบขับขี่ได้ไหมทั้งมอเตอร์ไซต์หรือรถยนต์ แต่ต้องมีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับผู้พิการที่เป็นคนขับมากที่สุด และในด้านของการสอบใบขับขี่ หากเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วว่าสามารถขับรถได้ก็ทำการสอบได้ไม่มีปัญหา สำหรับการทำประกันรถยนต์นั้นก็ยังคงทำได้ปกติ เพียงแต่มีการเพิ่มเติมขั้นตอนบางส่วนเข้ามาเท่านั้น ใครที่มองหากรมธรรม์ดี ๆ คุ้มครองได้แบบครบ ๆ เข้าดูแผนที่ถูกใจผ่านเว็บไซต์ของ TIPINSURE ได้เลย