ซื้อรถยนต์คันแรก ต้องเตรียมจ่ายอะไรบ้างนะ?

จำนวนผู้เข้าชม : 289
Tag:

ซื้อรถยนต์คันแรก ต้องเตรียมจ่ายอะไรบ้างนะ?

 

ความใฝ่ฝันอยากมีรถยนต์เป็นของตัวเองสักคัน หรือซื้อเป็นของขวัญทำงานให้กับตัวเอง แต่ก็มีหลายคนที่ตัดสินใจซื้อรถแค่ความต้องการ และประโยชน์ในการใช้งาน แต่ลืมคิดไปว่าการซื้อรถยนต์ 1 คัน ไม่ได้มีแค่การผ่อนค่างวดเท่านั้น ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมาอีกเพียบ บางอย่างเราก็คาดไม่ถึง ทำให้กลายเป็นภาระขนาดใหญ่จนแบกรับไม่ไหว สำหรับมือใหม่ที่กำลังจะซื้อรถยนต์คันแรกจะมีค่าใช้จ่ายแฝงอะไรบ้างที่ตามมา ซึ่งมีทั้งค่าใช้จ่ายก่อนซื้อ และค่าใช้จ่ายที่ตามมาเพื่อให้คุณวางแผนได้ง่ายขึ้น

1. เงินดาวน์ และค่างวดผ่อนรถ

ถ้าคุณมีเงินที่มากพอก็สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องผ่อนชำระ แต่ในกรณีที่เงินยังไม่เพียงพอ จะต้องทำการผ่อนรถยนต์ เงินดาวน์รถก็เป็นค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่คุณต้องชำระก่อนจำนวนหนึ่ง แล้วนำส่วนที่เหลือมาบวกเข้ากับดอกเบี้ยรายปี โดยปกติแล้วควรวางเงินดาวน์ประมาณ 20 - 40 เปอร์เซ็นต์ของราคารถ ความสำคัญของเงินดาวน์ คือ ยิ่งเราวางเงินดาวน์เยอะเท่าไหร่ ค่างวดที่เราต้องจ่ายก็จะน้อยลงเท่านั้น แต่ถ้าเลือกดาวน์น้อยกว่า 20% อาจต้องมีคนค้ำประกัน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงมีความสำคัญมาก ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าคุณต้องการซื้อรถยนต์ในราคา 500,000 บาท มีเงินดาวน์ 250,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 60 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี เท่ากับต้องจ่ายค่างวดเดือนละ 5,208 บาท
เอาเป็นว่าการวางเงินดาวน์ การผ่อนชำระ เลือกให้สอดคล้องกับงบประมาณและเงินในกระเป๋า ต้องคำนวณรายรับรายจ่ายของตัวเองให้ดี และมีวินัยในการผ่อนชำระส่งตามกำหนดในทุกๆ เดือน เพื่อไม่ให้เสียเครดิตได้ในอนาคต 

2. ภาษีรถยนต์

ค่าภาษีรถยนต์ เป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเป็นประจำทุกๆ ปี ที่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อชำระค่าภาษีจะได้ป้ายสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่มีตัวเลขแสดงปี พ.ศ.ตัวใหญ่ที่ติดอยู่หน้ารถ นี่แหละ! 
ที่เรียกว่าป้ายภาษี ค่าภาษีรถยนต์ส่วนบุคคลคิดตามขนาดเครื่องยนต์หน่วยซีซี (cc) มีหลักการตามนี้

  • รถยนต์ที่มีขนาดเครื่อง 600 ซีซีแรก คำนวณซีซีละ 50 สตางค์
  • รถยนต์ที่มีขนาดเครื่อง 601–1,800 ซีซี คำนวณซีซีละ 1.50 บาท
  • รถยนต์ที่มีขนาดเครื่อง 1,801 ซีซีขึ้นไป คำนวณซีซีละ 4 บาท

และยังมีส่วนลดให้สำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป โดยจะเสียภาษีรถยนต์ลดลงตามสัดส่วน

  • รถยนต์อายุเกิน 6 ปี จะได้รับการลดภาษีลง 10%
  • รถยนต์อายุเกิน 7 ปี จะได้รับการลดภาษีลง 20%
  • รถยนต์อายุเกิน 8 ปี จะได้รับการลดภาษีลง 30%
  • รถยนต์อายุเกิน 9 ปี จะได้รับการลดภาษีลง 40%
  • รถยนต์อายุเกิน 10 ปี จะได้รับการลดภาษีลง 50%

แต่เมื่อปล่อยรถไว้ไม่จ่ายภาษีรถยนต์เป็นเวลานานจนขาดการต่อทะเบียนรถยนต์เกิน 3 ปี ทางขนส่งจะดำเนินอาจระงับทะเบียนได้เลยทันที

3. พ.ร.บ.รถยนต์

พ.ร.บ. รถยนต์เป็นประกันรถยนต์ภาคบังคับโดยกฏหมายต้องจ่ายทุกปี ซึ่งมีความสำคัญและให้ความคุ้มครองเฉพาะตัวบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ โดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องใครเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด แต่ไม่ได้คุ้มครองถึงตัวรถยนต์ เช่นหากคุณเกิดอุบัติเหตุจนรถยนต์เสียหาย พ.ร.บ. นี้ก็จะคุ้มครองเป็นเงินชดเชยและค่ารักษาพยาบาล ในส่วนค่าซ่อมรถคุณต้องรับผิดชอบเอง ค่าใช้จ่ายของ พ.ร.บ. จะมีราคาแตกต่างกันไปตามประเภทรถ ผู้ที่ไม่ได้ทำจะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ และถือว่ามีความผิดทางกฏหมายด้วย โดยจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

4. ประกันรถยนต์

สำหรับนักขับมือใหม่ อยากให้พิจารณาทำประกันภัยรถยนต์ ชั้น 1 ตัวช่วยที่จะคุ้มครองคุณหากรถคุณเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเกิดจากคู่กรณีหรือผู้ขับขี่เอง กระทั่งถอยรถชนกับเสาไฟฟ้า ประกันชั้น 1 ก็เคลมให้ทั้งค่าซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอื่นๆ เป็นประกันที่คุ้มครองครอบคลุมมากที่สุด ทำไว้แล้วอุ่นใจกว่าจริงๆ เพราะคุณไม่รู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดเมื่อไหร่ แต่หากคุณกำลังมองหาประกันดีๆ เพื่อคุ้มครองรถคันใหม่ของคุณ สามารถปรึกษา TIPINSURE.COM ลองเปรียบเทียบประกันภัยรถยนต์และคำนวณค่าเบี้ยก่อนซื้อได้ตามต้องการ  แถมยังผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตที่ร่วมรายการนานสูงสุด 10 เดือนด้วยนะ รับรองว่าได้ประกันสำหรับรถคันแรก พร้อมคำแนะนำดี ๆ แน่นอน

5. ค่าน้ำมัน

ก่อนจะซื้อรถอย่าลืมคำนวณค่าน้ำมันในแต่ละเดือนให้ดี ความมากน้อยในการใช้งาน ร่วมถึงอัตราสิ้นเปลืองของรถแต่ละรุ่น และถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักในทุกเดือนที่มากที่สุด ใครที่ใช้งานรถเป็นประจำอาจต้องจ่ายมากถึง 2,000 - 4,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นอย่าลืมวางแผนสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ดีด้วย

6. ค่าบำรุงรักษา

รถยนต์จำเป็นต้องมีการตรวจเช็คสภาพการใช้งานอยู่เป็นระยะๆ เพื่อช่วยถนอมเครื่องให้อยู่ทน ควรเช็กระยะทุกๆ 10,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 6 - 12 เดือน ที่ศูนย์บริการช่างจะทำการตรวจสอบอะไหล่ ระบบของเหลวต่างๆ ที่เสื่อมสภาพและทำการเปลี่ยนให้ โดยคุณจะต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาเหล่านี้ ประมาณ 3,000 บาท ไปจนถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว แต่เพื่อเป็นการยืดอายุการใช้งาน และสร้างความปลอดภัยให้กับรถของคุณ

7. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

เป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือค่าจุกจิกเพิ่มเติมต่างๆ อย่าง ค่าจอดรถ ค่าทางด่วน ค่าล้างรถ ค่าอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ และยังมีค่าใช้จ่ายที่คุณไม่คาดคิดอีก เช่นค่าปรับกรณีทำผิดกฎจราจร ค่าเรียกรถลากฉุกเฉิน ค่าซ่อมรถยนต์ และอีกหลายๆ ค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขที่แน่นอนในแต่ละเดือนได้ หากคุณต้องการที่จะประหยัดมากๆ คุณอาจลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ตามความจำเป็น