ทำความรู้จักกับอาการเส้นเลือดขอด เกิดจากอะไร อันตรายไหม ?
จำนวนผู้เข้าชม : 79
ทำความเข้าใจอาการเส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร
คนที่ชอบนั่งหรือยืนในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือชอบใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำโดยเฉพาะผู้หญิง รู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดได้ง่าย ซึ่งหลายคนมักมองว่าไม่รุนแรงและไม่อันตราย แต่หากปล่อยไว้ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นกัน
เส้นเลือดขอดคืออะไร ? เส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร ? ลักษณะของอาการเส้นเลือดขอด เป็นอย่างไร ระยะไหนที่รุนแรง ? ในบทความนี้เราไปทำความเข้าใจอาการเส้นเลือดขอดพร้อมรู้วิธีป้องกันอาการเส้นเลือดขอดด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ
เส้นเลือดขอดคืออะไร ?
เส้นเลือดขอด (Varicose Vein) คือ อาการของหลอดเลือดดำชั้นตื้น (Superficial Vein) และหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein) ที่ขาทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เลือดไม่สามารถลำเลียงกลับเข้าสู่หัวใจได้จนเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือเกิดการรั่วของเลือดดำจากวาล์ว (Valve) จนทำให้เลือดดำมีการตกค้างอยู่ในหลอดเลือด แล้วมีการขยายตัวเกิดขึ้นจนกลายเป็นเส้นเลือดขอดในที่สุด
เส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร ?
- สาเหตุหลักของอาการเส้นเลือดขอดเกิดจากการเสื่อมสภาพของลิ้นหลอดเลือดอันเนื่องมาจากอายุที่มากขึ้น
- มีพฤติกรรมการนั่งหรือยืนในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน
- มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงกดบนเส้นเลือดมากขึ้น
- เส้นเลือดขอดเกิดจากฮอร์โมนเพศได้ด้วยเช่นกัน โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงจะทำให้ผนังหลอดเลือดดำยืดหยุ่นน้อยลง หรือผู้หญิงที่ทานยาคุมเป็นประจำ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเส้นเลือดขอดได้ง่าย
- การใส่รองเท้าส้นสูง หรือนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดบริเวณขาถูกกดทับ เลือดหมุนเวียนได้ไม่ดี
- กรรมพันธุ์ หากบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเส้นเลือดขอด จะทำให้บุตรหลานมีแนวโน้มเป็นเส้นเลือดขอดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
- คนที่มีประวัติหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ เคยมีลิ่มเลือดอุดตัน จะทำให้เสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดได้ง่าย
ลักษณะของอาการเส้นเลือดขอด
ลักษณะของอาการเส้นเลือดขอดจะมีด้วยกันทั้งหมด 6 ระยะ ซึ่งจะต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของอาการ ดังนี้
อาการเส้นเลือดขอดระยะที่ 1
อาการเส้นเลือดขอดระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นเส้นเลือดมีลักษณะสีม่วงเข้มหรือสีฟ้าขึ้นบริเวณต้นขา/น่อง โดยจะมีลักษณะคล้ายใยแมงมุม (Spider Veins) ขนาดน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร ในระยะนี้ยังไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เด่นชัด
อาการเส้นเลือดขอดระยะที่ 2
อาการเส้นเลือดขอดระยะที่ 2 เส้นเลือดจะโป่งนูนขึ้น (Varicose Veins) มีลักษณะเป็นรอยคดเคี้ยวเหมือนตัวหนอนขดกันไปมา โดยจะมีขนาดใหญ่มากกว่า 3 มิลลิเมตร ในระยะนี้ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณขาและน่อง เมื่อนั่งหรือยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน
อาการเส้นเลือดขอดระยะที่ 3
อาการเส้นเลือดขอดระยะที่ 3 ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกหนักขา ขาบวม ตึง ปวดเมื่อย และรู้สึกปวดมากขึ้นแม้จะนั่งหรือยืนในระยะเวลาสั้น ๆ หรือมีอาการคัน แสบร้อน ขากระตุก เป็นตะคริวบ่อยในตอนกลางคืน
อาการเส้นเลือดขอดระยะที่ 4
อาการเส้นเลือดขอดระยะที่ 4 ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงของสีผิวในบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด
โดยจะเริ่มเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีดำเข้มขึ้นที่อาจเกิดจากลิ่มเลือดอุดตัน รวมถึงผิวหนังมีความหนามากขึ้นจากภาวะอักเสบของผิวหนัง
อาการเส้นเลือดขอดระยะที่ 5
อาการเส้นเลือดขอดระยะที่ 5 อาจเกิดแผลที่ขา ผิวหนังอักเสบหรือมีแผลพุพอง โดยจะมีลักษณะเป็นขอบแผลแดง และผู้ป่วยจะรู้สึกว่าขาขยายใหญ่ขึ้นจนทำให้แผลแตกและมีเลือดออกจากเส้นเลือดขอด หากมีอาการลักษณะควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน
อาการเส้นเลือดขอดระยะที่ 6
อาการเส้นเลือดขอดระยะที่ 6 แผลหายจากการรักษาจะเริ่มดีขึ้น แต่ยังมีลักษณะอาการอื่น ๆ อยู่ เช่น ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีดำ
วิธีป้องกันอาการเส้นเลือดขอดด้วยตัวเอง
- เลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ควรมีการเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เลี่ยงการนั่งหรือยืนท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ
- เลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เช่น สวมกางเกง ถุงเท้าหรือถุงน่องที่รัดแน่นเกินไป
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเลือกทานอาหารที่มีกากใยสูง และเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง ไขมันของทอด อาหารรสเค็ม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณขาดีขึ้น
สรุปบทความ
แม้ว่าอาการเส้นเลือดจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน และไม่ได้อันตรายมากนัก แต่หากปล่อยไว้ ไม่รีบรักษาก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นหากเรารู้แล้วว่าเส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร พฤติกรรมแบบไหนที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอด แนะนำให้เลี่ยงจะดีที่สุด และอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดความเสี่ยงในทุก ๆ ด้าน เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุขก็คือการทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคลนั่นเอง เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มความอุ่นใจแล้ว ยังเป็นตัวช่วยบริหารความเสี่ยงด้านการเงิน ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย