วัยเก๋าต้องรู้ โรคข้อเข่าเสื่อม รับมือยังไงในวันที่เดินเหินไม่สะดวก
จำนวนผู้เข้าชม : 132
Tag:
ทำความรู้จักกับโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ พร้อมรู้วิธีรับมือกับโรคข้อเข่าเสื่อม
เมื่ออายุมากขึ้นระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะเริ่มเสื่อมสภาพลง หนึ่งในนั้นคือมีอาการปวดข้อเข่า ที่สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เพื่อชะลอไม่ให้เสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย และป้องกันไม่ให้ข้อเข่าสึกหรอไปมากกว่าเดิม ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับโรคข้อเข่าเสื่อมกันให้มากขึ้น
โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร ? อาการที่เห็นได้ชัดของมีอะไรบ้าง ? โรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงวัย เกิดจากอะไร เป็นได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ? มีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขมากที่สุด
โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร ?

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) คือ โรคที่เกิดจากกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่า ข้อสะโพก หรือข้อกระดูกสันหลังมีการเสื่อมสภาพลง โดยอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมผู้ป่วยจะรู้สึกปวดข้อเข่า หรือมีการอักเสบภายในข้อเข่าจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งหากไม่ทำการรักษาอาจเพิ่มระดับความรุนแรงของโรคได้
อาการที่เห็นได้ชัดของโรคข้อเข่าเสื่อม
อาการที่เห็นได้ชัดของโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีทั้งอาการในระยะแรกเริ่ม อาการระยะปานกลาง และข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง โดยอาการบ่งชี้ที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถสังเกตได้ดังนี้
1. มีอาการข้อเข่าติด ฝืด ตึง แข็ง (stiffness)
อาการระยะแรกของโรคข้อเข่าเสื่อม คือ มีอาการข้อเข่าติด เหยียดหรืองอเข่าได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีการยึดติดของข้อเข่า มักพบในเวลาตื่นนอนตอนเช้า หรือตอนนั่งท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ อาการนี้จะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว จะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อได้พักขา
2. มีเสียงในข้อเข่า (Crepitus)
เวลาเคลื่อนไหวหรือเดินจะมีเสียงในข้อเข่า สามารถเกิดได้ทั้งคนที่มีอายุและคนที่อายุยังน้อย เกิดจากการเสียดสีของเยื่อบุภายในข้อ แต่ในบางรายอาจที่มีอาการปวดร่วมด้วย และปวดมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
3. มีอาการปวดเข่าบ่อยครั้ง
โรคข้อเข่าเสื่อมอาการที่พบบ่อย คือ จะปวดเข่าเป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน โดยจะรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดแรงกดต่อข้อเข่าเยอะ เช่น เดินขึ้นลงบันได นั่งยอง นั่งพับเพียบ ในบางรายอาจรู้สึกปวดต่อเนื่อง ไม่สามารถหายเองได้ หรือต้องทานยาแก้ปวดถึงจะหาย
4. เจ็บเมื่อกดบริเวณข้อเข่า
เมื่อกดบริเวณข้อเข่าโดยเฉพาะด้านในข้อเข่าจะรู้สึกเจ็บ หรือบางรายอาจปวดด้านหน้าหรือด้านหลังหัวเข่า ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อม หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาจะดีที่สุด
5. ข้อเข่าบวม
หากพบว่าบริเวณข้อเข่าข้างใดข้างหนึ่งสูงกว่าอีกข้าง หรือบวมผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ และเข้ารับการรักษาโดยด่วน เนื่องจากอาจเกิดการอักเสบภายในข้อเข่า โดยอาการนี้มักจะพบในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะปานกลาง หากปล่อยไว้อาการอาจรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงวัย
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุหลักของโรคข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากผิวกระดูกอ่อนที่ข้อเข่า กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทเริ่มเสื่อมสภาพ
- มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ (BMI มากกว่า 23) ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย เพราะข้อเข่าจะต้องรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดแรงกดที่ข้อเข่า เช่น การยกของหนัก, ยืนหรือนั่งในท่าทางที่ไม่เหมาะสมติดต่อกันเป็นเวลานาน
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ รวมทั้งโรคข้ออักเสบชนิดต่าง ๆ (inflammatory joint disease)
- อุบัติเหตุที่เกิดแรงกระแทก เช่น คนที่เคยได้รับประสบอุบัติเหตุจนกระดูกบริเวณหัวเข่าหัก, ข้อเข่าบิด,กระดูกสะบ้าเข่าหัก, ข้อเข่าเคลื่อนหลุด, เส้นเอ็นไขว้หน้าของข้อเข่าฉีกขาด หรือหมอนรองเข่าฉีกขาด
- การเล่นกีฬาบางชนิด เช่น กีฬาผาดโผน วิ่ง กระโดด จะทำให้เกิดความเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ?
โรคข้อเข่าเสื่อม ส่วนใหญ่จะพบในวัยสูงอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะโครงสร้างของร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพ แต่ก็สามารถพบได้ในคนที่มีอายุน้อยได้เช่นกัน เกิดจากการใช้งานข้อเข่าที่ไม่เหมาะสม หรือคนที่เคยได้รับบาดเจ็บของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่า
วิธีรับมือกับโรคข้อเข่าเสื่อม
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น การยกของหนัก, ไม่ยืนหรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ควรพักการใช้งานของข้อเข่าเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ข้อเข่าทำงานหนักจนเกินไป
- ควรบริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรง เพื่อช่วยลดแรงกระแทกต่อข้อเข่า
- ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อ ลดแรงกระทำต่อข้อเข่า ไม่ให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากเกินไป
- รับประทานยาแก้ปวด ยาพาราเซตามอล ยาแก้อักเสบ หรือทานอาหารเสริมสร้างกระดูก ถือเป็นวิธีแก้ปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้ (ไม่ควรกินติดต่อกันเป็นเวลานาน)
- ทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ เป็นวิธีรับมือกับโรคข้อเข่าเสื่อมที่หลายคนมักมองข้าม เพราะถ้าหากเจ็บป่วยถึงขั้นต้องผ่าตัดจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่หากเราวางแผนทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงดังกล่าวได้
สรุปบทความ
อาการข้อเข่าเสื่อม แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่เรามีวิธีรับมือเพื่อลดความรุนแรงของอาการลงได้ โดยการเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น การยกของหนัก, ไม่ยืนหรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน มีพักการใช้งานของข้อเข่าเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ข้อเข่าทำงานหนักจนเกินไป เพียงเท่านี้เราก็ห่างไกลจากโรคข้อเข่าเสื่อมไปได้ไม่มากก็น้อย