ขับรถชนคนตาย ทำไมถึงไม่ติดคุก !!
จำนวนผู้เข้าชม : 1599

เคยสงสัยกันบ้างมั้ยครับ ว่าทำไมในกรณีที่ ดารา นักร้อง หรือใครหลายคนขับรถประสบอุบัติเหตุชนคน ทำให้มีผู้เสียชีวิต พวกเขาเหล่านั้นทำไมถึงไม่ติดคุก?
ตามข้อกฎหมายกรณีขับรถชนคนมีเนื้อหาอย่างไร?
ทั้งนี้ “ข้อกฎหมายกรณีขับรถชนคน” อาจารย์วันชัย สอนศิริ ทนายชื่อดัง ให้ความรู้ว่า กรณีเช่นนี้มีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับ อาทิ ประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดเกี่ยวกับร่างกายและชีวิต พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ความผิดในการขับรถ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ความเสียหายและการชดเชยค่าเสียหาย ดังนี้
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีมีผู้เสียชีวิตผู้ก่อเหตุก็จะมีความผิดอาญา ตามมาตรา 291 ที่ระบุว่า “ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท”
นอกจากนี้ ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฐานขับรถโดยประมาท ตามมาตรา 78 ที่ระบุไว้ว่า ผู้ใดขับรถซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ และให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที พร้อมแจ้งชื่อ-สกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
ในกรณีที่ผู้ขับขี่รถหลบหนีไป ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนี หรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่ จนกว่าคดีถึงที่สุด หรือได้ตัวผู้ขับขี่ “ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 6 เดือนนับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำความผิด และให้ตกเป็นของรัฐ”
ส่วน ความผิดทางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากตกลงชดใช้ค่าเสียหายกันได้ ก็ไม่ต้องนำกฎหมายนี้มาใช้ เว้นเสียแต่ผู้เสียหายไม่ได้รับการชดใช้หรือมีการทำผิดไปจากข้อตกลง ก็มีความผิดฐานละเมิด ซึ่งมาตรา 420 ระบุว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” อย่างนี้เป็นต้น
คดีแบบนี้นั้น เมื่อเกิดความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา กระบวนการต่อไปก็คือทางพนักงานสอบสวนก็จะทำการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ส่งให้กับพนักงานอัยการ จากนั้นพนักงานอัยการก็จะทำการตรวจรับคำฟ้อง ก่อนส่งขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาคดี
“กรณีขับรถชนคนตาย ศาลท่านจะพิจารณาจากหลักฐานต่างๆ ถ้าไม่เคยทำความผิด ไม่เมา และยอมชดใช้ค่าเสียหาย ในสำนวนการสอบสวน ฝ่ายผู้เสียหายได้แสดงการยอมความไม่ติดใจเอาเรื่อง เนื่องจากทางฝ่ายผู้กระทำผิดยินยอมชดใช้ และผู้เสียหายได้มีการแถลงต่อหน้าศาลไว้ ศาลท่านก็มักจะพิจารณาโทษให้จำคุก 1 ปี 2 ปี 3 ปี หรือแล้วแต่ ที่สำคัญหากคู่กรณียอมความ ไม่ติดใจเอาเรื่อง ศาลก็มักจะปรานีลดโทษจำคุกให้เหลือเพียงการรอลงอาญา โดยต้องรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติตามระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือขึ้นกับดุลพินิจของศาล”, อาจารย์วันชัย
สำหรับบางกรณีที่อาจมีหลายคนสงสัย เช่นเป็นกรณีที่ขับรถมาโดยปกติ และเกิดมีคนกระโดดพุ่งชนรถ หรือพุ่งออกมาจนถูกรถชนจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ผู้ขับขี่จะต้องรับผิดชอบหรือไม่-อย่างไร? อ.วันชัยอธิบายข้อกฎหมายกรณีนี้ว่า ตามกฎหมายระบุไว้ในชั้นแรกว่าผู้ขับขี่เป็น ผู้กระทำผิด เว้นแต่มีการพิสูจน์ได้ว่าเหตุนั้นเกิดจากผู้ตายหรือผู้บาดเจ็บเป็นผู้กระทำกฎหมายก็จะถือว่าเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอีกฝ่ายหนึ่ง
“ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น และพิสูจน์ได้ว่าเหตุเกิดจากอีกฝ่าย คดีก็จะพลิกไปกลายเป็นว่าคนที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บเป็นผู้กระทำผิด และคนขับรถเป็นผู้เสียหาย ซึ่งถึงแม้คนที่เป็นเหตุจะเสียชีวิต แต่ทายาทที่อยู่ก็อาจจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายแทน”, อาจารย์วันชัย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (http://www.dailynews.co.th/)
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (http://elib.fda.moph.go.th/)
"ขับรถยนต์อย่างอุ่นใจให้ทิพยประกันภัยเป็นเพื่อนร่วมทางด้วยนะครับ"
เลือกซื้อ ประกันรถยนต์ ประกันรถยนต์ชั้น 1จากทิพยประกันภัยง่ายๆ คลิกเลย!!
หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่